หน้าแรก
 
...นู๋น่ารักป่าวพี่...
dog15.jpg
powered_by.png, 1 kB

สุนัขหลังอาน (Thai) พิมพ์ ส่งเมลล์
สุนัขไทย
Breed Photo
Thai Ridge Back Dog
ลักษณะโดยทั่วไปสุนัขหลังอานมีรูปร่างใกล้เคียงกับสุนัขพันธุ์ไทยพื้นบ้านทั่วไป จุดเด่นที่สะดุดตามากที่สุดก็คือมีอานอยู่บนหลัง มีท่าทางว่องไว กระฉับกระเฉง ดูร่าเริง ฉลาด ซื่อสัตย์ จงรักภักดีต่อเจ้าของ และยังมีสัญชาติญาณในการล่าสัตว์ปรากฏให้เห็นคือ มีความดุร้ายพอสมควร ระแวดระวังคนแปลกหน้า หรือตื่นตระหนกเมื่อได้ยินเสียงต่างๆ แต่ขณะที่สุนัขหลังอานยืนเพ่งดูคน หรือสิ่งแปลกปลอม จะมีลักษณะสง่างาม หน้าจะเชิด หูจะตั้ง หันไปทางทิศที่มาของเสียง หางจะทอดไปข้างหน้า มีลักษณะโค้งเหมือนดาบ จัดอยู่ในประเภทใช้งานขนาดกลาง เดิมเป็นสุนัขเลี้ยงไว้สำหรับล่าสัตว์ ปัจจุบันเป็นสุนัขประเภทสวยงาม เพราะมีลักษณะผิดไปจากสุนัขอื่นๆตรงที่มีอาน นอกจากนั้นยังเลี้ยงไว้เฝ้าบ้าน และเป็นเพื่อนได้ดีอีกด้วย

ลักษณะมาตรฐาน ลักษณะมาตรฐานของสุนัขพันธุ์ไทยหลังอาน ตามที่สมาคมผู้นิยมเลี้ยงสุนัขแห่งประเทศไทย ได้ขอจดทะเบียนไว้กับสหพันธ์สุนัขแห่งเอเชีย และสมาคมสุนัขโลกมีดังนี้
1. ส่วนหัว ประกอบด้วยส่วนต่างๆดังต่อไปนี้ หัว, หู, ตา, จมูก, ปาก และฟัน ลักษณะของหัวจะเป็นรูปลิ่ม หน้าผากกว้าง กรามใหญ่ ปากมนไม่แหลม มุมปากลึก ริมปากปิดสนิทพอดีกับกราม บริเวณปากจะมีสีดำ หรือที่เรียกว่าปากมอม ในสุนัขหลังอานสีน้ำตาลส่วนใหญ่ปากจะมอม สีอื่นๆอาจจะปากมอม หรือไม่มอมก็ได้ ฟันขาวสะอาด เป็นระเบียบ ฟันบนขบชิดแนบสนิทกับฟันล่าง ฟันบนควรมี 20 ซี่ ฟันล่างมี 22 ซี่ เขี้ยวแหลมมี 4 ซี่ ขบกันสนิท ตาค่อนข้างเรียวเล็ก แหลม รับพอดีกับหน้าผาก สีของดวงตากลมกลืนกับสีของลำตัว และแววตาเป็นประกายน่าเกรงขาม เวลาจับจ้องคนแปลกหน้า จะเห็นความไม่ไว้วางใจปรากฏในแววตา ทำให้เกิดความน่ากลัว จมูกใหญ่เป็นสีดำสนิท สันจมูกกว้าง ลิ้นต้องมีปานสีดำ หน้าผาก และดั้งจมูกยื่นตรงขนานกันและกัน หูทั้งสองข้างเป็นรูปสามเหลี่ยมปลายแหลม หรือหูรูปกรวย มีขนาดพอดี ไม่ใหญ่ หรือเล็กเกินไป ไม่หลุบ หรือตูบไปข้างหน้า หูไม่ชิด หรือห่างเกินไป ระหว่างหูทั้งสองมีลักษณะเป็นเส้นตรง ไม่นูน หรือแอ่นตรงกลาง และหูต้องตั้งตรงรับพอดีกับส่วนหัว
2. คอ คอต้องตั้งตรง และแข็งแรง ไม่ยาว และหนาจนเกินไป มีขนาดพอดีกับลำตัว และส่วนหัว คอส่วนล่างโค้งรับกับอก และลำตัว เหนียงคอต้องไม่ยานเหมือนเหนียงวัว คอต้องเชิดทำให้สุนัขดูสง่างาม
3. ลำตัว ควรมีลักษณะสมส่วน กล่าวคือ ลำตัวต้องมีกล้ามเนื้อคล้ายรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ขนาดของลำตัวเมื่อวัดความยาว และส่วนสูงของลำตัวแล้วจะต้องไม่ยาวกว่าส่วนสูงเกิน 1 นิ้ว หรือที่นักเลงเลี้ยงสุนัขเรียกว่า 10 ต่อ 9 ความยาวของลำตัววัดจากส่วนอกด้านหน้า ถึงสะโพกด้านท้าย ส่วนความสูงวัดจากหัวไหล่ด้านหน้า ถึงปลายเท้าด้านหน้า ไหล่ต้องผึ่งผ่าย ลำตัวควรจะเพรียวลม เวลาเดิน หรือวิ่งสันหลังจะตรงเสมอกัน ไม่แอ่นเอียงลาดจากโหนกไหล่ลงสู่ส่วนท้าย
4. อก เมื่อมองจากด้านข้างในขณะที่สุนัขยืน จะเห็นว่าอกไม่ใหญ่มากนักแต่อกจะลึก ความลึกของอกมีประมาณ 50 ส่วนของความสูงทั้งหมด กล่าวคือ อกจะลึกมาถึงระดับข้อศอกของขาหน้า ทำให้ปอด และหัวใจใหญ่ เวลาวิ่งจะเหนื่อยช้า
5. ท้อง และเอว ท้องกว้างโค้ง และคอดกิ่วไปถึงบริเวณเอว ส่วนเอวจะเล็ก และคอด ทำให้กระโดดได้สูง และไกล วิ่งได้เร็ว
6. ขา เท้า และเล็บ ขาหน้าควรเหยียดตรง และขนานกัน ขาไม่โก่งงอ หรือคดปลาย และไม่แบะออกข้าง ข้อศอกกระชับแนบกับลำตัว ช่องว่างระหว่างขาหน้าทั้งสองกว้าง ขาหลังมีกล้ามเนื้อขึ้นเป็นมัดมองเห็นได้ชัดเจน โดยขาหลังสั้นกว่าขาหน้า เวลายืนขาหลังจะเฉียงไปข้างหลังเล็กน้อย และกางออกจากกันเป็นฐานที่มั่นคง ขาไม่ควรตึงเป็นเส้นตรง ควรมีข้อเข่า และมีน่องที่ย่อลงเล็กน้อย ทำให้เกิดมีแรงส่งในการวิ่ง ก้าวได้ยาว และทำให้ส่วนท้ายย่อลง ช่องว่างระหว่างขาคู่หน้า และขาคู่หลังควรจะสัมพันธ์ หรือได้สัดส่วนกับความสูงของลำตัว ถ้าตัวยาวบั้นท้ายจะแกว่ง และขาจะสั้นไม่ได้สัดส่วน ดังนั้นลักษณะที่ดีในขณะเดิน คือ หัวตั้งเชิด ขาไม่แบะ ในส่วนของเท้า และเล็บ เท้าหน้ามี 5 นิ้ว เท้าหลังมี 4 นิ้ว ต้องไม่มีนิ้วติ่ง ถ้ามีติ่งต้องตัดออก อุ้งเท้าควรหนา และใหญ่ ค่อนข้างกลม นิ้วจิกงุ้ม ดูแน่นไม่แผ่ออก ดูกลมเหมือนเท้าสิงห์ เวลาเดิน หรือยืน นิ้วเท้าจะกางออกจากกันเล็กน้อย เพราะระหว่างนิ้วเท้าจะมีหนังที่ยืดออกได้ เล็บเท้าควรมีสีดำ หรือกลมกลืนกับสีของขน และควรเป็นสีเดียวกันทั้งหมดทุกเล็บ
7. หาง หางที่ดีขณะที่ยืนหางจะต้องตั้งชี้ขึ้น และโค้งเรียวเหมือนดาบ ตั้งตรงกับแนวสันหลัง ตรงปลายหางอาจเป็นสีดำ กระดูกหางมีระหว่าง 16-20 ข้อ ควรจะมีหางที่ยาวเลยข้อศอกของขาหลังเล็กน้อย ดูแล้วสมตัว ถ้าหางงอขดม้วนติดหลัง หรืองอจนปลายหางจรดหลัง หรือหางไม่ชี้โค้ง หรือบิดเบี้ยว บิดงอ ถือว่าไม่สวย และใช้ไม่ได้ เมื่อเดิน หรือวิ่งหางไม่ควรแกว่งมากเกินไป
8. หนัง และขน หนังควรจะหนาดีกว่าหนังบาง จะทำให้ทนทานต่อการขีดข่วนได้ดี ทดสอบได้โดยใช้มือกำหนังทางด้านต้นคอ หรือที่หลังขึ้นมา ถ้ากำได้เต็มอุ้งมือ และย่นตามมือ แสดงว่ามีหนังหนา ถ้าหนังไม่หนาจะไม่ค่อยอดทน ขนของสุนัขหลังอานจะสั้นเกรียน เรียบ และแน่นหนาเป็นระเบียบ ผิวหนังอ่อนนิ่ม มีทั้งขนที่สั้นแต่ไม่เกรียนติดหนัง และขนสั้นแน่นเรียบติดหนัง เรียกว่าขนกำมะหยี่ ซึ่งขนกำมะหยี่นี้จะมีราคาแพงกว่า อย่างไรก็ตามลักษณะขนเมื่อดูแล้วจะต้องเรียบสั้น เป็นเงางาม ยาวขนาดขนม้าก็เรียกว่าเพียงพอ ถ้าสั้นมากเป็นกำมะหยี่จะเป็นโรคผิวหนังได้ง่าย
9. สีของขน สุนัขหลังอานมีอยู่หลายสี ไม่จำกัดลงไปว่าสีใดสำคัญกว่าสีใดสีหนึ่ง ไม่จำกัดลงไปว่าสีใดเป็นพันธุ์แท้เพียงสีเดียว ขึ้นอยู่เพียงแต่ว่าสีใดหาได้ยากง่ายกว่ากัน แล้วแต่ค่านิยม แต่ที่สำคัญต้องเป็นสีเดียวตลอดตัว และมีอานใหญ่ สีที่ถูกต้องคือสีน้ำตาลแดง แต่สีขนที่หาได้ยากคือสีสวาด ถ้ามีอานใหญ่ก็นับว่าเป็นชั้นหนึ่ง ปัจจุบันนิยมสีอื่นเพิ่มขึ้น เท่าที่พบก็มี สีดำ สีกลีบบัว สีขาว สีน้ำตาลอ่อน สีน้ำตาลดำ ที่สำคัญคือควรเป็นสีเดียวกันตลอดทั้งตัว ถ้าอกสีขาวจัดว่าเป็นลักษณะที่ไม่ดี
10. อาน อานนี้เกิดจากขวัญที่สันหลัง โดยมากตั้งแต่ที่ริมกระดูกสันหลังใต้ไหล่ทั้งสองลงไปเล็กน้อย ขนชี้กลับไปทางหัวรวมกันเป็นดวงกลมใหญ่ เส้นผ่านศูนย์กลางราว 2 ? ซ.ม. จนถึงราว 5 ซ.ม. หรือใหญ่กว่านั้น แล้วเรียวเล็กลงเรื่อยๆ ดุจปลายแซ่ จนเกือบจรดถึงโหนกกระดูกขาหลัง ขนที่เป็นขวัญ และที่เรียวลงนี้เป็นขนกลับ ย้อนจากขนธรรมดาของสุนัข รวมกันยกขึ้นเป็นแนวเป็นสันสูง เห็นได้ทันทีว่าผิดกับสุนัขธรรมดา บางตัวขนหลังมีขวัญมากกว่า 4-5 ขวัญก็มี ขวัญยิ่งมาก ยิ่งทำให้เส้นขนกลับขนหลังใหญ่ขึ้น แต่คงเรียวเล็กเป็นปลายแซ่ตามหลังไปทางหางอย่างสองขวัญ สำหรับอานก็มีหลายรูปแบบแล้วแต่จะเรียกกัน เช่น อานธนู หรืออานลูกศร อานแผ่น อานกีต้า และอานใบโพธิ์ หรืออานม้า
11. ขนาด ตัวผู้เต็มที่หนักประมาณ 25-28 กก. สูงวัดจากปลายเท้าถึงหัวไหล่ 24-26 นิ้ว ตัวเมียหนักประมาณ 22-25 กก. สูง 22-24 นิ้ว
12. อุปนิสัย สุนัขไทยหลังอานนี้มีความเฉลียวฉลาด และความจำดีเป็นเลิศ มีไหวพริบดี ทั้งยังมีความซื่อสัตย์ จงรักภักดีต่อเจ้านายเป็นอย่างยิ่ง แม้จะเฆี่ยนตี ทรมานให้อดอยาก ก็มักจะกระดิกหางเข้ามาหมอบแทบเท้าเสมอ ไม่ถือโกรธอาฆาต และไม่คลายความจงรักภักดีต่อเจ้าของ เหมาะที่จะใช้ในการเฝ้าทรัพย์สิน บ้านช่อง เพราะไม่ค่อยไว้ใจคนแปลกหน้า มีสัญชาติญาณในการล่า และมีความสามารถในการยังชีพสูง ไม่ค่อยชอบอยู่ในการบังคับ กฎเกณฑ์ หรือถูกกักขัง นอกจากฝึกหัดให้เคยชินแต่เล็ก

ชนิดของขน แม้ว่าสุนัขพันธุ์หลังอานจะมีเพียงพันธุ์เดียวเท่านั้น แต่ก็มีการแบ่งชนิดของขนออกเป็น 4 ชนิด คือ
1. สุนัขหลังอานชนิดขนยาว เดิมทีสุนัขไทยมีขนยาว แต่ต้องเป็นขนที่ไม่ยาวเกิน 2 ซ.ม. ถ้ายาวเกินกว่านี้ โดยมากจะเป็นสุนัขหลังอานที่มีการผสมกับพันธุ์ต่างประเทศ มีข้อดีอยู่บ้างคือ ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรคผิวหนัง ยุงไม่กัด แต่มีข้อเสียที่ต้องคอยดูแลเรื่องความสะอาด มีเห็บ, หมัด อาศัยดูดกินเลือด ทำให้เสียเวลาในการดูแลมาก และค่าใช้จ่ายในการดูแลสูง
2. สุนัขหลังอานชนิดขนสั้น ได้มีการนำเอาสุนัขไทยหลังอานขนยาวมาผสมกับพันธุ์หลังอานธรรมดา ได้ลักษณะใหม่ที่มีขนสั้น แต่ไม่เกรียนติดหนัง เคยได้รับความนิยมเลี้ยงกันอยู่พักหนึ่ง ปัจจุบันยังพอนิยมอยู่บ้าง เพราะขนที่สั้นดูแลรักษาความสะอาดง่าย สามารถมองเห็นตัวหมัด เห็บได้ดี ทนต่อยุงกัดได้ ไม่เป็นแผลพุพอง ทำให้ใช้เวลาในการดูแลน้อย ค่าใช้จ่ายในการดูแลไม่มาก เลี้ยงปล่อยไว้ในบ้านไม่ต้องให้อยู่ในมุ้งลวด ที่สำคัญคือมองเห็นอานได้ชัดเจน
3. สุนัขหลังอานชนิดขนเกรียน เกิดจากการปรับปรุง
4. สุนัขหลังอานชนิดขนกำมะหยี่ สุนัขหลังอานที่มีขนสั้นแน่นเรียบเกรียนติดหนัง ที่เรียกว่าขนกำมะหยี่นี้ปัจจุบันเป็นที่นิยมเลี้ยงกันมาก และมีราคาสูงกว่าชนิดอื่นๆ มองเห็นอานได้ชัดเจนกว่าชนิดขนเกรียน แต่มีข้อเสียที่ทุกครั้งที่ยุงกัดจะเป็นตุ่ม เป็นโรคผิวหนังได้ง่าย ค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง ต้องนอนในมุ้งลวดด้วย

สีของขน
1. สีแดง สุนัขพันธุ์หลังอานสีแดงเป็นพันธุ์เก่า ต้นสายมาจากจังหวัดตราด จันทบุรี และระยอง (นิยม สีออกน้ำตาล สีลูกวัว สีนวล รวมเป็นสีแดงหมด เช่นสุนัขสายจังหวัดจันทบุรี ตราด ออกสีน้ำตาลอ่อน ขาบเข้ม เขาจะเรียกว่า "หมาแดง" ทั้งนั้น)
สุนัขหลังอานสีแดงเป็นสีที่มีขนสวยงาม ปัจจุบันสุนัขที่จัดว่าเป็นพันธุ์โบราณ คงมีเหลืออยู่เป็นจำนวนมากกว่าสีอื่นๆ คงจะเป็นด้วยสีแดง เป็นแม่สีที่แรง และอยู่ได้คงทนสภาพ แจกลูกสีสายให้ตัวอื่นได้ง่าย เป็นสุนัขที่จัดว่าค่อนข้างอดทน และบึกบึน ปัญหาเรื่องขน เรื่องสีมีน้อย ใช้สมบุกสมบันได้ดี
2. สีสวาด หรือสีเทา เป็นสุนัขระหว่างสีดำกับสีแดงเข้ากัน แดงอ่อนๆกับดำถึงจะออกมาเป็นสีเทา เป็นสุนัขหลังอานที่หลวงปริพันธ์ พจนพิสุทธ์ ได้ผสมขึ้นมาเป็นครั้ง กล่าวได้ว่า สุนัขไทยสีเทา (สีสวาด) ปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นลูก หลาน เหลน ของสุนัขที่ชื่อว่าเจ้าเทา ของคุณหลวงเกือบทั้งสิ้น เดิมทีเดียวยังเป็นสุนัขหลังอานขนยาวไม่สั้นเกรียนอย่างในปัจจุบัน มีทั้งเทาดำ เทาขี้เถ้า เทาเงินยวง ในปัจจุบันนำมาผสมกับสุนัขทางสายตราด และจันทบุรี จะได้เป็นขนกำมะหยี่ และเป็นกำมะหยี่ที่เงา แต่อานจะไม่ใหญ่ โดยมากเป็นอานลูกศร หรืออานพันขนาดเล็ก ถ้ามีอานใหญ่ก็นับว่าชั้นหนึ่ง แต่จะหาได้น้อยมาก
3. สีดำ เป็นสีโบราณที่มีมานานที่สุด จัดว่าเป็นพ่อสีหลักของสุนัขสีต่างๆ อีกมากมาย สุนัขสีดำที่ดำสนิทจริงๆ นั้นสวยงามมาก ธรรมชาติพิเศษของมันจะให้ต่อมไขมันขับถ่ายออกมาที่ขน ดูเงางามกว่าสีอื่นๆ ผิวหนังเนื้อในที่ดำนั้น เป็นสีพื้นสีที่ไม่เปลี่ยนยีนส์ หรือลบสีเดิมได้ง่ายๆ บางตัวเล็บ จมูก นม ตาก็ดำสนิทด้วย แต่จัดว่าเป็นสุนัขที่อาภัพ เพราะคนไทยไม่นิยม และเป็นที่รังเกียจของคนที่ถือโชคลาง
4. สีขาว เป็นสีที่ดูแล้วงามสะอาด ดูเด่นสวยงามมาก สุนัขหลังอานโดยเฉพาะที่ขนเกรียนนั้น ปัจจุบันหาได้ยากมาก ส่วนใหญ่มักไม่ขาวปลอดสนิท มักจะมีแซมน้ำตาลอมแดง เหลืองนวล หรือแซมชมพู กล่าวกันว่าสุนัขสีขาวที่ถูกลักษณะของมันจริงๆ ต้องมีพื้นหนังเป็นสีดำ หรือเทาหนังช้าง ทำให้ช่วยขับส่งความขาวของขนให้สว่างขึ้น และต้องมีจมูกดำ ตาแดง เล็บขาวด้วย
5. สีเขียว คนโบราณมักเรียกว่าสีน้ำตาลอ่อน ขนาด 70-80 เปอร์เซ็นต์ แซมขนดำ 20-30 เปอร์เซ็นต์ ว่าเป็นสีเขียว สุนัขสีเขียวจัดเป็นต้นสายสำคัญสีหนึ่งที่ทำให้ได้ลูกสีสวาด ในปัจจุบันหาได้ยากขึ้น
6. สีนาก หรือสีโกโก้ เป็นผลจากสีแดงผสมกับสีดำ จัดเป็นสีที่สวยอีกสีหนึ่ง และลึกซึ้งกว่าสีแดง สุนัขหลังอานสีนากอ่อน ค่อนข้างจะหายาก โดยเฉพาะพวกขนเกรียนกำมะหยี่ สีนากทั้งตัวส่วนใหญ่จะพบได้ค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่จะด่างอก ขา และหาง
7. สีกลีบบัว เกิดจากสีสวาด หรือสีเทาที่สายเลือดยังไม่นิ่ง ผสมกับสีแดง ประกอบกับยังมีตัวแปรอื่นๆอีกค่อนข้างมาก ผสมกันแล้วบางครั้งก็ออกมาเป็นสีกลีบบัวโรย บัวชมพู บัวอ่อน นักเล่นสุนัขมักเรียกหมาหลงสีเหล่านี้ว่า กลีบบัว ทั้งหมด
8. สีลายเสือ มีลักษณะคล้ายกันเกือบทุกภาค คือจะมีลายพาดขวางลำตัว บางตัวด้านหลังจะเป็นลายพาดจรดกันอย่างก้างปลา เป็นสุนัขที่ค่อนข้างตัวเล็ก แคบ นานๆจะพบตัวที่กะโหลกโต ส่วนใหญ่ที่อกด่าง ขาด่าง และหางดอก ยังคงมีปรากฏอยู่ทุกภาค แต่ไม่ค่อยนิยมเล่นกัน

ลักษณะของอาน
สามารถแบ่งออกตามชนิดของอานได้ดังนี้
1. อานเข็ม อานชนิดนี้ไม่มีขวัญ เป็นอานแบบธรรมดาทั่วไป เกิดจากขนที่ย้อนกลับไปทางหลังเท่านั้น โดยขนนั้นจะยกตัวเป็นแผ่นเล็กมีขนาด 2-3 ซ.ม. ที่สันหลัง แผ่นอานนี้จะเริ่มที่หัวไหล่ขาหน้า เรียบเล็กไปจรดโคนหาง
2. อานแผ่น หรืออานม้า เป็นอานธรรมดาทั่วไป และไม่มีขวัญเช่นกัน ลักษณะเช่นเดียวกับอานเข็ม โดยขนที่หลังจะยกตัวขึ้นมา 4-5 ซ.ม. เต็มแผ่นหลังเหมือนกับอานม้า สุนัขตัวที่มีอานเต็มแผ่นหลังนี้โดยมาก อานจะมีขนาดใหญ่ และหาได้ยาก เป็นที่นิยมเลี้ยง
3. อานเทพพนม หรืออานพรม อานชนิดนี้ไม่มีขวัญ หรือไม่ได้เกิดจากขวัญ และขนบนหลังจะไม่ชี้ย้อนกลับไปทางหัว เพียงแต่ขนจะยกตัวขึ้นมาประสานกันเป็นแนวบนสันหลัง เหมือนกับการพนมมือไว้พระ มักพบในสุนัขหลังอานที่มีขนยาว และเป็นลักษณะที่นิยม
4. อานธนู หรืออานลูกศร เกิดจากขวัญ 2 ขวัญบริเวณหัวไหล่ของขาคู่หน้าขดเป็นวงก้นหอย 2 วง มาบรรจบกันที่สันหลัง แล้วเรียวเล็กปลายแหลมไปจรดโคนหาง หรือบั้นท้าย และยกเป็นแนวสันสูงเห็นได้ชัดเจน อานชนิดนี้พบได้ในสุนัขหลังอานทั่วไป บางตำราถือว่าเป็นลักษณะที่แท้จริงของสุนัขหลังอาน และมักนิยมเลี้ยงไว้เอาลูก เพราะถึงแม้จะมีอานเล็ก แต่เวลาให้ลูกมักจะได้ลูกอานใหญ่ หรืออาน 4 ขวัญ ซึ่งถือเป็นอานใบโพธิ์ หรืออานพิณ
5. อานพิณ เกิดจากขวัญตั้งแต่ 3-4 ขวัญ โดยที่ตำแหน่งของขวัญจะอยู่ตรงหัวไหล่ของขาคู่หน้า 1-2 ขวัญ จนมาบรรจบกัน แล้วเรียวไปถึงบริเวณกลางหลัง ซึ่งบริเวณกลางหลังนี้ก็มักจะมีขวัญอีก 2 ขวัญ แต่อยู่คนละฝั่งของสันหลังมาบรรจบกันเป็นแผ่นกว้างที่กึ่งกลางหลัง ทำให้กลางสันหลังเป็นขนที่ย้อนชี้กลับเป็นแผ่นใหญ่เต็มแผ่นหลัง จากนั้นก็จะเรียวเล็กปลายแหลมไปจนจรดโคนหาง มองดูแล้วเหมือนรูปพิณ
6. อานใบโพธิ์ ประกอบด้วยขวัญอย่างน้อย 4-6 ขวัญ เรียงเป็นระเบียบเหมือนกับอานพิณ จะต่างกันตรงที่ตำแหน่งของขวัญ และบริเวณกึ่งกลางสันหลังเป็นแผ่นกว้างเต็มแผ่นหลัง และส่วนที่เรียวเล็กปลายแหลมนั้น ถ้าเป็นอานพิณส่วนนี้จะเรียวไปถึงหาง แต่อานโพธิ์ส่วนนี้จะสั้น และยาวไม่ถึงโคนหาง มองดูแล้วคล้ายใบโพธิ์ อานแบบนี้หาได้ยาก พบไม่บ่อยนัก
7. อานไวโอลิน อานชนิดนี้เกิดจากขวัญจำนวนมากที่อยู่ห่างกันเป็นคู่ๆ โดยคู่แรกจะอยู่ที่บริเวณหัวไหล่ของขาคู่หน้า คู่ที่สองอาจเป็นขวัญคู่ หรือขวัญเดี่ยว จะอยู่ห่างไปจากขวัญคู่แรก ค่อนไปทางหางมากบ้าง น้อยบ้าง ไม่แน่นอนตายตัว โดยจะอยู่คนละข้างของแนวสันหลัง ตำแหน่งจะตรงกัน หรือเกือบตรงกัน จากนั้นจะเรียวเล็กไปจรดโคนหาง มีรูปร่างคล้ายไวโอลิน ที่นิยมมากคือชนิด 4 ขวัญ และขวัญอยู่ในตำแหน่งที่สมดุลเหมาะสม ดูแล้วสวยงาม จะหาดูได้ยาก ยิ่งถ้ามี 5-6 ขวัญแบบนี้หาได้ยาก
8. อานโบว์ลิ่ง เกิดจากขวัญ 4-5 ขวัญ ที่บริเวณหัวไหล่หน้า อาจมีเพียง 1 ขวัญ หรือไม่มีก็ได้ บริเวณสันหลังอาจมีขวัญ 2 ขวัญ อยู่ตรงข้ามกันไม่ห่างมากนัก ส่วนที่หัวไหล่โคนขาหลังจะมีอีกคู่หนึ่ง อยู่ตรงข้ามเช่นกัน แต่กว้างกว่ามากกว่าขวัญคู่แรก หรือขวัญบริเวณตรงกลางหลัง ลักษณะขวัญเช่นนี้เมื่อมองดูแล้วจะมีลักษณะคล้ายกับพินโบว์ลิ่ง
9. อานหูกระต่าย มีลักษณะเป็นรูปวงรีๆ อยู่ที่บริเวณกลางหลังทางส่วนด้านบนตรงหัวไหล่ของขาคู่หน้า จะเป็นอานรูปหูกระต่าย 2 หู แยกออกจากกัน ดูคล้ายกับกระต่ายนั่งหันหลัง เป็นอานที่หาดูได้ยากแบบหนึ่ง

นิสัยของสุนัขหลังอาน
1. มีความซื่อสัตย์ จงรักภักดีต่อเจ้าของมากกว่าสุนัขพันธุ์อื่นๆ หลายชนิด
2. มีความสุภาพ และฉลาดกว่าสุนัขพื้นบ้านทั่วไป เชื่อฟังเจ้าของ สามารถฝึกสอนได้ และประจบเก่ง
3. ว่องไว กระฉับกระเฉง อดทน แข็งแรง ร่าเริง กล้าหาญ ความจำดี มีความรู้สึกไวต่อกลิ่น และเสียงต่างๆ ประสาทสัมผัสดี
4. มีสัญชาติญาณในการล่าสัตว์ปรากฏให้เห็น คือมีความดุร้ายพอสมควร
5. มีความสุขุม เป็นกันเองกับผู้คุ้นเคย แต่ไม่ไว้ใจ และระแวดระวังคนแปลกหน้า หรือตื่นตระหนก เมื่อได้ยินเสียงต่างๆ
6. กินอยู่ง่าย ไม่ยุ่งยาก แต่รักความสะอาด ดูแลความสะอาดตัวเองได้ เช่นการเลียขนตัวเอง การขับถ่ายจะไม่ขับถ่ายใกล้ที่อยู่ของตัวเอง
7. เป็นตัวของตัวเอง ชอบอยู่อย่างอิสระ ไม่ชอบการบังคับ

แหล่งพันธุ์สุนัขหลังอาน
1. จังหวัดตราด มีการเลี้ยงที่อำเภอเมือง ที่บ้านน้ำเชี่ยว บ้านปลายคลอง บ้านท่าพริก, อำเภอแหลมงอบ ที่บ้านอ่าวช่อ, อำเภอเขาสมิง และอำเภอคลองใหญ่
2. จังหวัดจันทบุรี มีการเลี้ยงที่อำเภอเมือง อำเภอขลุง อำเภอท่าใหม่
3. จังหวัดระยอง มีการเลี้ยงที่อำเภอเมือง อำเภอแกลง
4. กรุงเทพฯ และนนทบุรี มีฟาร์มต่างๆ และผู้เลี้ยงอิสระอยู่มากเช่นกัน

ถัดไป >
Copyright 2002 - 2006 Dog in Thailand.
All rights reserved.
Dog in Thailand, CED Thailand, Ray Sports, THPSA